เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย
26-12-2009 Views: 28290
      วิธีการดูพระเครื่องประเภทเหรียญ
      หลาย ๆ คนบอกว่าพระเครื่องประเภทเหรียญปัจจุบันนี้ เล่นยากมาก เพราะทำเก๊ได้เหมือนของแท้เหลือเกิน โดยเฉพาะเก๊คอมพิวเตอร์ แต่ในความคิดของผม ผมว่าเหรียญทุกชนิดจะดูง่ายขึ้น ถ้าเรามีหลักการในการดูดังนี้ เมื่อพบเหรียญใด ๆ ให้ดูด้วยตาเปล่าก่อนว่าเหรียญบวมหรือไม่ ถ้าบวมหรือบิดผิดธรรมชาติ ก็คือ เก๊แน่นอน ยกเว้นเหรียญที่นูนจากแม่พิมพ์เอง เช่น เหรียญหลังเต่าเจ้าคุณนร ฯ เมื่อเหรียญไม่บวมก็ให้ดูตำหนิเทียบกับหนังสือพระเครื่องทั่ว ๆ ไปได้ว่าถูกพิมพ์หรือไม่ ถ้าเหรียญผิดพิมพ์หรือไม่มีตำหนิ ก็คือ เก๊แน่นอน จากแกะบล็อคใหม่นั่นเอง แต่ถ้าเหรียญถูกพิมพ์ก็จะมีอีก 2 กรณีคือ
       1.แท้
       2.เก๊คอมพิวเตอร์
       การแยกพระแท้กับพระเก๊คอมพิวเตอร์แยกได้ง่ายมาก และไม่ต้องดูตำหนิแล้ว ให้ดูเหรียญโดยทั่ว ๆ ไปก่อน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บล็อกเก๊คอมพิวเตอร์จะมีพื้นผิวเหรียญที่ไม่ตึงเรียบ และจะมีจุดเนื้อเกินแตกต่างจากเหรียญแท้เสมอ หลังจากนั้นค่อยพิจารณาดูองค์ประกอบทั่ว ๆ ไปของเหรียญ เช่น อายุของโลหะ รมดำหรือกะไหล่ ว่ามีความเก่าหรือไม่ ถ้าเพื่อน ๆ พิจารณาโดยละเอียดตามขั้นตอนข้างต้นนี้ละก้อ เหรียญเก๊ทุกประเภท ไม่ได้แอ้ม เพื่อน ๆ ชาวศูนย์พระดอทคอม
       จุดพิจารณาร่วมในการดูเหรียญ   อายุของโลหะต้องมีความเก่าตามอายุการสร้างของเหรียญ เช่น เหรียญ พ.ศ. 2460 ทองแดงไม่เก่าก็คือ เก๊นั่นเอง กระไหล่หรือรมดำ ต้องเก่าตามอายุเหรียญ เหรียญสึก ควรสึกเฉพาะส่วนที่นูนของเหรียญเท่านั้น ส่วนลึกสุดของเหรียญต้องคมชัด และดูได้ว่าเป็นเหรียญปั๊ม การดูรอยตัดปั๊มขอบเหรียญ ถ้าไม่มีหรือเป็นรอยตะไบถือว่าไม่ใช่เหรียญปั๊ม ยกเว้นเหรียญปั้มบังคับปลอก(บังคับขอบเหรียญ) เช่นเหรียญ ลพ.เดิม ปี 2482 ขอบจะเรียบครับ หรือเหรียญที่ตะไบขอบเช่นเหรียญ ลพ.คง วัดบางกระพ้อม บล็อกขอบตะไบ ครับ แต่เหรียญพิเศษแบบนี้จะมีไม่มากครับ แต่ถ้ามีรอยตัดปั๊มอาจเก๊คอมพิวเตอร์ก็ได้ เหรียญห่วงเชื่อม รอยเชื่อมเงินต้องมีความเก่า ไม่ควรเช่าเหรียญที่เลี่ยมพลาสติกไว้เพราะดูลำบากอาจหลอกตาได้ ยกเว้น เหรียญดูง่าย
       วิธีการดูพระเครื่องประเภทรูปเหมือน รูปเหมือนปั้ม การดูพระรูปเหมือนปั๊มให้ใช้หลักการดูเหรียญปั๊มได้เลย เพราะพระหล่อปั๊มคือ พระโลหะปั๊มเป็นรูปองค์เท่านั้น ถ้าปั๊มแบนเป็นแผ่นก็คือเหรียญปั๊มนั่นเอง เช่น รูปเหมือนปั้มหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค รุ่นก้นระฆัง รูปเหมือนฉีด การดูพระรูปเหมือนฉีดให้ดูพิมพ์รวมเป็นหลัก พระทุกองค์จะต้องรูปร่าง เท่ากันทุกองค์ 100% แต่ไม่คมชัดเหมือนพระปั๊ม บริเวณก้นองค์จะมีรอยตะไบบริเวณรอยฉีดโลหะเข้าทุกองค์ เช่น พระหล่อใบโพธิ์ เจ้าคุณนรฯ ปี 13 รูปเหมือนหล่อโบราณ มี 2 ชนิด คือ เบ้าทุบ ไม่มีรอยตะเข็บข้าง แต่จะมีรอยตะไบเดือยที่ก้นทุกองค์ เช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิมพ์นิยม เบ้าประกบ มีรอยตะเข็บซ้าย-ขวาข้างองค์พระทุกองค์ ก้นจะมีรอยเนื้อเทไม่เต็ม เช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิมพ์ขี้ตา จุดสังเกตสำคัญ พิมพ์หรือรูปร่างโดยรวมของพระรูปหล่อจะต้องเหมือนกัน รูปหล่อที่มีโค๊ด โค๊ดจะต้องคมชัดเพราะใช้ตอกด้วยโลหะ รอยปั๊มหรือรอยตะไบ ถ้าเป็นพระที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรที่จะไม่มีความคมและไปในทางเดียวกันไม่สับสน
       หลักพิจารณาพระแท้ "พิมพ์ถูก เนื้อใช่ ความเก่ามี" พิมพ์ถูก ก็แท้แล้ว 50% เพื่อน ๆ ต้องจำพิมพ์พระที่จะเช่าบูชาได้ทุกครั้งก่อนที่จะเช่าบูชาเสมอ เพราะว่าถ้าพิมพ์ถูก โอกาสพระแท้ก็มี 50% แล้ว และถ้าพระผิดพิมพ์ก็เก๊ 100% เลย เพราะฉะนั้นเพื่อน ๆ ต้องหมั่นศึกษาพิมพ์พระจากตำราต่าง ๆ ให้แม่นยำ หรือถ้าศึกษาจากองค์จริงได้ก็ยิ่งดีครับ เนื้อใช่ ก็แท้แล้ว 25% เพื่อน ๆ ต้องจำสูตรเนื้อพระแต่ละรุ่นให้คุ้นเคย โดยศึกษาจากองค์จริงเท่านั้น จะดูจากรูปไม่ได้ เช่นพระเนื้อทองเหลืองของพระแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน กระแสโลหะและผิวไฟก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเนื้อถูกกระแสและผิวไฟถูกก็แท้ขึ้นอีก 25% ครับ ความเก่ามี ก็แท้แล้ว 25% พระเครื่องที่มีอายุต้องมีความเก่าสมอายุด้วย ถึงแม้จะเป็นพระที่เก็บรักษาดี ไม่ถูกจับต้องเลย ก็ต้องใหม่แบบเก่า ๆ คือไม่มีความแวววาวแล้ว เช่น พระหูยานลพบุรี กรุใหม่ ปี 08 เป็นต้น ถ้าเพื่อน ๆ พิจารณาพระทุกองค์ได้ครบถูกต้อง 3 ข้อนี้ก็เป็นพระแท้ดูง่าย ควรค่ากับการสะสมครับ
        คาถาเสริมภูมิคุ้มกันพระเก๊ ก่อนอื่นผมขอขยายความเรื่อง"พิมพ์ถูก" ก่อนนะครับ เพื่อน ๆ คงเคยได้ยินคำพูดว่า "พระผิดพิมพ์" บ่อย ๆ ใช่ไหมครับ ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับพระเลียนแบบหรือพระเก๊นั่นเอง แล้วคำถามต่อมาก็คือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกพิมพ์หรือผิดพิมพ์ การสร้างพระทุกชนิด ทุกครั้ง จะต้องมีแม่พิมพ์เสมอ แต่อาจจะมีหลายแม่พิมพ์ในพระชนิดเดียวกันก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาว่าพระชนิดนั้น ๆ มีกี่แม่พิมพ์หรือกี่บล็อก ถ้าเป็นพระรุ่นใหม่ พระที่สร้างมาจากแม่พิมพ์เดียวกันจะต้องมีรายละเอียดในองค์พระนั้น ๆ เหมือนกัน 100% เช่น ตุ่มนูน, ลายเส้นต่าง ๆ , รอยเนื้อเกิน เป็นต้น ฉะนั้นพระที่มีลักษณะใด ๆ ที่แตกต่างจากพระที่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน ย่อมเป็นพระผิดพิมพ์หรือมาจากแม่พิมพ์อื่นหรือเก๊นั่นเอง ยกเว้น การเปลี่ยนแปลงในพิมพ์ที่อธิบายด้วยเหตุผลได้
        การพิจารณาพระประเภทเนื้อชิน พระเนื้อชินแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆดังนี้ ชินเขียว-สนิมไข เช่น พระหูยานชินเขียว ชินเงินแก่เงิน-สนิมตีนกา เช่น พระกรุวัดราชบูรณะ อยุธยา ชินงินแก่ตะกั่ว เช่น พระกำแพงขาว กำแพงเพชร ตะกั่ว-สนิมแดง เช่น พระร่วงหลังรางปืน สุโขทัย พระชินเขียวเป็นพระที่นิยมกันน้อยในปัจจุบันนี้ คงนิยมกันในส่วนพระชินเงินและพระตะกั่วสนิมแดง ซึ่งยังคงมาแรงในค่านิยมปัจจุบัน
       แนวทางการศึกษาพระเนื้อชิน ใช้หลักการมาตรฐานของการศึกษาพระเครื่องทั่วไปคือ พิมพ์ต้องถูกต้อง เนื้อต้องถูกต้อง และต้องมีความเก่าตามอายุพระ โดยศึกษาตามขั้นตอนคือ พิมพ์พระ พระเนื้อชินแต่ละกรุนั้น จะมีแม่พิมพ์เฉพาะแต่ละกรุนั้นๆ ฉะนั้นก่อนอื่นจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนว่า พระที่ขึ้นแต่ละกนุนั้นมีกี่พิมพ์ กี่ชนิด อย่างไรบ้าง เช่น พระหูยาน ลพบุรี แบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก เป็นต้น พระเนื้อชินที่ขึ้นการกรุเดียวกัน ก็จะมีรูปร่างแบบพิมพ์ที่เหมือนกัน ถึงแม้จะไม่เหมือนเหรียญปั้มรุ่นใหม่ก็ตาม แต่อย่างไรส่วนใหญ่ของพิมพ์นั้นต้องเหมือนจะต่างกันไดเฉพาะส่วนที่เป็นผลมาจากการเทโลหะ เช่น รอยเทโลหะไม่เต็มแม่พิมพ์หรือเนื้อปะเกินในแม่พิมพ์เป็นต้น พระเนื้อชิน จะมีส่วนประกอบหลักคือ ตะกั่วผสมกับโลหะต่างๆ เช่น เงิน, สังกะสีหรือแร่พลวงเป็นต้น เพราะฉะนั้นเนิ้อชินของแต่ละกรุก็จะมีลักษณะของเนื้อชินไม่เหมือนกัน เช่น กรุวัดราชบูรณะเป็นชินเงินแก่เงินผิวจะเป็นปรอทขาวเคลือบอยู่ 1 ชั้นบนผิวในองค์พระที่สวยเหมือนพระที่เทใหม่ๆ แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็จะมีความแห้งในผิวปรอทนั้นๆ หรือพระชินราชใบเสมา พิษณุโลก ก็จะเป็นชินแก่ตะกั่วเป็นต้น อายุความเก่า พระกรุเนื่องจากสร้างมานับร้อยปี เพราะฉะนั้นทั่วๆองค์พระก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างเป็นธรรมชาติ มีรอยปริระเบิดจากภายในซึ่งในพระเก๊จะทำไม่ได้ เนื่องจากอายุไม่ถึงนั้นเอง จะเห็นว่าการศึกษาพิจารณาพระเนื้อชินนั้นไม่ยากอย่างที่คิด โดยใช้หลักการเดียวกันคือ "พิมพ์ถูก เนื้อใช่ มีอายุความเก่า"
       แนวทางการบูชาสะสมพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ พระชุดเตารีดใหญ่-กลาง-เล็ก ปี 2505 น่าเก็บบูชามาก แต่ให้เลือกเฉพาะองค์ที่มีขี้เบ้าเท่านั้น ถ้าไม่มีขี้เบ้าก็ขอให้เป็นพระดูง่าย เพราะถ้าไม่มีขี้เบ้า ต่อไปภายหน้าอาจพิจารณา เก๊-แท้ ได้ยาก เพราะพระเก๊ทำได้ดีมากๆ พระชุดเหรียญ รุ่น 1-3 และเหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ ควรเก็บบูชาเฉพาะองค์ที่ดูง่าย ไม่ผ่านการล้างผิวมาหรือเลี่ยมพลาสติกไว้ เพราะพิจารณายาก ของเก๊ทำได้เกือบ 100% พระรูปหล่อก้นลายเซ็นต์ ปี 08 และเบตง 1 ปี 05 น่าบูชาสะสมมาก เพราะมีโค้ตให้พิจารณา ส่วนใหญ่จะดูง่าย ควรเลือกองค์ที่สวยสมบูรณ์ไว้ พระเนื้อว่าน รุ่นแรก ปี 2497 ควรเช่าบูชาองค์ที่ดูง่ายและแห่เซียนพระ 10 คน ถ้าทุกคนบอกว่าแท้ก็ OK เลยครับ เพราะท่านมีหลายโซนเนื้อ ทำให้พิจารณาลำบาก และสุดท้าย พระทุกองค์ต้องมีการรับประกัน 100% ว่าแท้จากบุคคลหรือศูนย์ที่เชื่อถือได้ด้วยครับ
         หลักการพิจารณาเซียนพระ ในหัวข้อนี้จะแนะนำวิธีดูเซียนแท้หรือผู้ที่ชำนาญพระเครื่องที่เราควรให้ความเชื่อถือไว้เป็นที่ปรึกษาในการเช่าบูชาพระเครื่องของเพื่อนๆ กัน ไม่มีเซียนพระคนใดชำนาญพระเครื่องทุกชนิด เพราะฉะนั้นใครบอกว่ามีความชำนาญพระเครื่องทุกชนิดให้ระมัดระวังไว้อย่างมาก เซียนพระที่ชำนาญพระเครื่องประเภทต่างๆ เช่น พระกรุ พระเกจิ รูปหล่อเนื้อผง เหรียญปั้ม ฯลฯ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะถูกต้อง 100% ทั้งหมด เพราะการชำนาญพระเครื่องนั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการพบเห็นพระเครื่องประเภทนั้นๆ รวมถึงทักษะในการศึกษาพระเครื่องประเภทนั้นๆ ด้วย เซียนพระที่ไม่ศึกษาอ่านหนังสือ หรือไม่ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นเซียนมาจากประสบการณ์การพบเห็นพระมาก ไม่ได้ดูจากพื้นฐานการดูพระแท้ อาจจะพาหลงทางได้ เช่นดูเหรียญเก่าแท้แต่เก็บดีมากเหมือนใหม่ อาจจะดูเป็นพระเก๊ได้ครับ เซียนพระที่เล่นพระเครื่องคนเดียว ไม่มีกลุ่ม ไม่มีพวก ให้ระมัดระวังไว้ เพราะอาจเล่นพระหลงทาง พาท่านหลงทางเล่นพระผิดแนวทางได้โดยง่าย เซียนพระที่ติดอบายมุข เช่น ติดการพนัน ติดผู้หญิง จะมีรายจ่ายมากผิดปกติ เมื่อเงินขาดมือ จะไม่มีสมาธิในการดูพระ เพื่อนๆ อาจจะเสียหายได้ เซียนพระที่มีจิตใจคับแคบ กลัวลูกค้าของตนจะไปเช่าพระคนอื่น เลยพาลสวดพระคนอื่นเก๊ตลอด เพื่อนๆ จะหลงทางได้ ถ้าเชื่อข้อมูลแบบนี้
       วิธีการแห่พระเครื่อง การแห่พระเครื่อง คือการนำพระเครื่องที่เราสงสัยว่า แท้ หรือ เก๊ ไปไห้เซียนพระที่สนามพระดูว่า แท้ หรือ เก๊ ปัญหาของการแห่พระ จะต้องแห่กับเซียนแท้ หรือเข้าสนามท่าพระจันทร์ เซียนพระที่ดูให้ จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเราหรือไม่ ? วิธีการแห่ที่ถูกต้อง ต้องหาเซียนพระแท้ก่อน หรือเข้าสนามท่าพระจันทร์ นำพระที่ต้องการแห่ให้เซียนพระดู โดยเสนอราคาขายด้วยเป็นราคาปัจจุบัน ถ้าพระแท้หรือเซียนพระดูว่าแท้ ก็จะต่อรองราคา เพราะเซียนพระจะเช่าบูชาในราคาประมาณ 30-50 % ของราคาตลาด ถ้าเราไม่ต้องการให้เช่าบูชา ก็ลดราคาลงเล็กน้อยเมื่อเซียนต่อราคาไม่ได้ก็ไม่ซื้อ เราก็นำพระกลับได้ พระที่ผ่านการแห่หลายครั้ง แล้วมีเซียนพระสนใจมากทุกครั้งก็แสดงว่าเป็นพระแท้ ดูง่าย ถ้าพระที่แห่มีเซียนสนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง นั่นคงเป็นพระดูยากหรือพระที่วงการไม่นิยม ถ้าพระที่แห่ไม่มีเซียนสนใจเลยก็ เก๊ แน่นอน หรือเป็นพระที่ไม่มีราคา หรือพระที่วงการไม่เล่นกัน
       ท่านทราบหรือไม่ ไม่มีเซียนพระคนใดชำนาญพระเครื่องทุกชนิด เซียนพระที่ชำนาญพระเครื่องชนิดนั้นๆ เช่น พระกรุ พระเกจิสายตรง เนื้อดิน เหรียญ ก็ไม่ใช่ว่าจะดูพระได้ถูกต้อง100% ทุกองค์ การแห่พระเครื่องหรือเช็คพระ ควรแห่ให้ถูกวิธี แล้วนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ด้วยวิจารณญาณว่า แท้ หรือ เก๊ด้วยตัวของท่านเอง พระแท้หรือเก๊ คนตัดสินก็คือเจ้าของพระโดยใช้ข้อมูลจากเซียนพระผู้ชำนาญสายนั้นๆ หลายๆ ท่าน อย่าเล่นพระด้วยหู ควรเล่นด้วยตาของเราเอง หรือปรึกษาเซียนพระสายนั้นๆ หลายๆ ท่าน พระเครื่องมีมูลค่าเพราะมีผู้เช่าบูชา ไม่ใช้เพราะเจ้าของพระ เช่น พระสมเด็จแท้แต่ดูยาก ไม่มีผู้เช่าบูชาก็เสมือนไม่มีมูลค่า แต่เจ้าของพระมักตีราคาไว้หลอกให้ตัวเองสบายใจต่างหาก ควรเช่าบูชาพระเครื่องที่มีอนาคตดี ไม่ใช่เช่าบูชาตามเราชอบ มิฉะนั้นท่านจะขาดทุนทุกครั้งที่เช่าบูชา
        ข้อเตือนใจในการเล่นพระทุกชนิด พระที่ราคาถูกผิดปกติ ควรระมัดระวัง เพราะอาจเป็นพระที่มีปัญหา เช่น พระดูยาก พระเก๊ พระซ่อม พระชำรุดหรือพระที่ถูกฃโมยมา ดังนั้นควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ พระที่เซียนขายผิดราคา เพราะอาจเป็นพระที่มีปัญหาเพราะวิสัยเซียนเรื่องตกควายเป็นเรื่องยากเพราะสามารถแห่ขายได้ทั่วสนามพระอยู่แล้ว พระแอบขาย เช่น มีคนเอาพระมาขายเงียบ ๆ แล้วกระซิบว่า อย่าบอกใครนะเป็นพระผู้ใหญ่ร้อนเงินให้เอามาขายให้ ถ้าคนอื่นรู้จะเสียชื่อ ที่จริงแล้ววัตถุประสงค์ส่วนใหญ่จะแอบขายเงียบๆ ต่างหากละครับ พระร้อนขายเพราะเสียพนัน เสียบอล มักจะเป็นการอ้างมากกว่าเพราะคนเล่นพระมักเล่นเป็นกลุ่ม เมื่อมีปัญหามักจะผ่านกลุ่มก่อน มีแต่เซียนแอบเท่านั้น มักจะฉวยโอกาสนี้แอบขายเพราะพระมีปัญหาต่างๆครับ "เล่นพระ อย่าโลภ"โลภเป็นโดนทุกครั้งนะ จะบอกให้
      เซียนพระที่ควรหลีกเลี่ยง เซียนพระในวงการมีมากมาย หลายระดับชั้น เซียนพระแต่ละคนมีความชำนาญในพระเครื่องแตกต่างกันออกไป แต่เซียนพระต่อไปนี้เพื่อนๆ ควรหลีกเลี่ยงห่างให้ไกลๆ เซียนที่พูดว่าตนเองดูพระได้เก่งและขาดทุกชนิด เซียนพระที่ดูพระแท้หรือเก๊ แต่ไม่สามารถบอกข้อมูลได้ว่าแท้หรือเก๊อย่างไร หรือตอบว่าเชื่อผมเถอะผมเล่นมานานแล้ว เซียนพระที่ให้ข้อมูลพระองค์เดิมแต่ไม่เหมือนกันบ่อยๆแสดงว่าข้อมูลไม่ดีจริง เซียนพระที่เล่นพระมานานหลายสิบปี แต่ยังเล่นพระย่อยๆ อยู่ เซียนพระที่สามารถโกหกบ่อยๆ หรือพูดไม่ตรงบ่อยๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เซียนพระที่ยืมเงินลูกค้าบ่อยๆ โดยอ้างว่าจะนำเงินไปเช่าพระมาขายให้ แล้วกลับไม่ทำอย่างที่พูด พูดจาโยกโย้แต่ไม่คืนเงิน เซียนพระที่พูดจาใหญ่โต แต่ห้อยพระเก๊ เซียนพระที่รับประกันแท้ 100% แต่เวลาคืนพระที่เก๊ชอบถามว่าใครดูเก๊ ไม่ยอมคืนเงิน หรือให้เปลี่ยนพระอื่นให้แทนการคืนเงิน เซียนพระที่ขายพระรับประกันแท้ 100% ให้เพื่อนๆ สัก 2 ครั้งแต่เก๊ติดต่อกัน แล้วไม่คืนเงินสดให้ เลิกคบได้เล๊ย รับรองไม่มีฟลุ๊คได้พระแท้มา
       แนวทางการเล่นสะสมพระกรุ ปัจจุบันพระกรุกลับกลายเป็นพระที่เล่นง่ายกว่าพระประเภทอื่นๆ แต่นักอนุรักษ์พระเครื่องทั่วๆ ไป มักจะบอกว่าพระกรุเล่นยากกว่าพระเกจิอาจารย์ ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ พระกรุในสมัยก่อนนี้ ไม่มีตำราหรือหนังสือให้ศึกษามากเหมือนปัจจุบัน ทำให้เหมือนว่าพระกรุดูยาก ผู้รู้พระกรุมากๆ นั้น มักเป็นนักเล่นพระรุ่นเก่าๆ ซึ่งมักไม่ค่อยสอน ให้กับนักเล่นรุ่นใหม่ อาจจะเป็นด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น หวงวิชา กลัวรุ่นใหม่เก่งกว่า กลัวหาพระไม่ได้ หรือสอนไม่เป็น ฯลฯ พระกรุเป็นพระที่หายากอยู่แล้ว และมักแตกกรุก่อนปี 2500 เพราะฉะนั้นพระจึงชำรุดสูญหายมาก เหลือให้มาถึงยุคหลังน้อย เมื่อพระมีน้อย นักเล่นพระก็ไม่เคยเห็นทำให้ดูเหมือนดูยาก แล้วทำไม ผมจึงบอกว่าพระดูง่ายในหัวข้อต่อไปผมจะให้แนวทางและข้อมูลว่า ทำไมพระกรุ "เล่นง่าย ดูง่าย"
      พระกรุ "เล่นง่าย ดูง่าย" พระกรุเป็นพระที่นับวันจะหายากขึ้นทุกวัน พระกรุส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อชินและเนื้อดินส่วนน้อยจะเป็นชนิดอื่น เช่น โลหะสำริด ว่าน ฯลฯ พระกรุเนื้อชินแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ เช่น ชินเงิน ชินแก่ตะกั่ว ชินเขียว และชินตะกั่วสนิมแดง หลักการดูพระทุกประเภทนี้เหมือนกันหมด ก็คือ พิมพ์พระ สำคัญ 50% เนื้อพระ สำคัญ 25% ความเก่าของพระ สำคัญ 25% รวมกันเป็น 100% โดยการดูพระเนื้อชินเหมือนกันกับการดูพระหล่อโบราณของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ พิมพ์พระเนื้อชินจะมีตำหนิในพิมพ์เหมือนเหรียญหล่อเกจิอาจารย์ซึ่งเราต้องทราบว่าจุดไหนเป็นตำหนิในแม่พิมพ์พระ ไม่ใช่เป็นตำหนิขององค์พระซึ้งเกิดจากการเทพระ เช่น เนื้อเกิน รอยยุบ เทไม่ติดพิมพ์ เป็นต้น การดูตำหนิในแม่พิมพ์พระให้ดูจากพระแท้พิมพ์เดียวกันหลายๆ องค์ แล้วสังเกตุดูว่าจุดไหนที่ทุกองค์มีเหมือนกันหมดทุกองค์ถือเป็นตำหนิในแม่พิมพ์เช่น พระหูยานลพบุรี พิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์ จะมีเนื้อเกินบริเวณซอกแขนขวา และรอยฟันหนูในบริเวณซอกแขนซ้าย เป็นต้น พระเนื้อชินเงิน ส่วนผสมหลักจะเป็นตะกั่วผสมกับธาตุต่างๆ เช่น สังกะสี ดีบุก พลวง ปรอท ฯลฯ เพราะฉะนั้นเนื้อหาหลักจะมีสีคล้ายตะกั่ว แต่มีความแวววาวออกขาวคล้ายเงินหรือปรอทบริเวณผิวพระโดยเฉพาะองค์ที่ไม่ได้ถูกสัมผัส เช่น พระกรุวัดราชบูรณะ พระกรุช่างกลปี 08 ลพบุรีเป็นต้น พระเนื้อชินแก่ตะกั่ว ก็คือพระชินเงินที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากนั้นเอง จะคล้ายกับตะกั่ว แต่จะมีผิวปรอทบางๆ อยู่บ้าง เนื้อพระจะอ่อนกว่าชินเงินทั่วไป เช่น พระชินราชใบเสมา พิษณุโลก, พระมเหศวร สุพรรณบุรี, พระกำแพงขาว กำแพงเพชร เป็นต้น พระชินเขียว "ชินเขียวสนิมไข" เป็นคำกล่าวโบราณของพระเนื้อชินเขียว ซึ่งมักจะมีไขคล้ายไข่แมงดาเกาะติดอยู่ตามผิวพระ เนื้อพระจะมีสีเขียวอ่อน และจะมีจุดไฝดำแทรกอยู่ในเนื้อพระทุกองค์เสมอ เช่น พระยอดอัฎฐารส จ.พิษณุโลกเป็นต้น พระตะกั่วสนิมแดง ก็คือเนื้อตะกั่วบริสุทธิ์นั่นเอง เมื่อพระเนื้อตะกั่วถูกความร้อนและความชื้นในกรุเป็นเวลาหลายร้อยปีจะเกิดสนิมตะกั่วทที่มีสีส้มถึงแดงขึ้นบริเวณผิวพระพร้อมกับไขขาวๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันของสนิมแต่ละกรุ เพื่อนๆ จะต้องศึกษาสนิมแต่ละกรุไว้นะครับ แนวทางดูธรรมธาติความเก่าของพระเนื้อชิน พระเนื้อชิน ถ้าเป็นพระสวย จะเห็นคราบปรอทคลุมองค์พระทั้งองค์ โดยเฉพาะด้านหน้า แต่คราบจะไม่เสมอกันทั้งองค์ ดูเผินๆ เหมือนพระใหม่แต่หากส่องดูจะพบว่าปรอทมีความแห้งไม่แวววาวเหมือนของใหม่ และควรจะมีรอยปริรานหรือรอยระเบิดจากสนิมชินเงินบริเวณพื้นผิวองค์ด้านหน้าหรือด้านหลัง ซึ่งจะมีทุกองค์ไม่มากก็น้อย ส่วนพระใช้ช้ำ บนพื้นผิวที่ถูกสัมผัสมากๆ ก็จะมีลักษณะแวววาวหม่นๆ ของตะกั่วผสมเงิน จะพบปรอทเล็กน้อยตามซอกองค์พระ มักจะพบรอยปริรานและรอยระเบิดผุจากสนิมตีนกาเสมอ พระชินแก่ตะกั่ว พระชินแก่ตะกั่วมักจะไม่มีรอยปริรานหรือระเบิดของชินให้เห็นเนื้อจากตะกั่วมีความอ่อนตัวอยู่ แต่จะพบคราบสนิมชินตะกั่วเป็นคราบดำๆ อยู่ตามซอกต่างๆ ขององค์พระ ส่วนบริเวณที่มีการสัมผัสมากจะคล้ายตะกั่ว พระชินเขียว พระชินเขียวที่มีอายุเก่าแก่จะขึ้นไขคล้ายไข่แมงดาไขจะมีความมันชื้นอยู่ในตัวไม่แห้ง พระตะกั่วสนิมแดง พระเนื้อตะกั่วเมื่ออยู่ในกรุที่มีความร้อนชื้นเป็นเวลาหลายร้อยปีจะเกิดสนิมตะกั่วสีแดงขึ้นและคลุมด้วยคราบไขคล้ายหินปูนอีกชั้นหนึ่งเมื่อล้างคราบหินปูนออกด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้อง ก็จะเห็นผิวสนิมแดงที่เป็นธรรมชาติ คือ ปริราน เหมือนใยแมงมุมทั่วๆ ทั้งองค์พระที่เป็นสนิมแดงนั้นๆ
        ข้อควรระวังในการศึกษาสะสมพระเนื้อชิน ในการศึกษาพระกรุเนื้อชินนั้น ไม่ใช่เพียง "พิมพ์ถูก เนื้อใช่ ความเก่าใช่" แต่อย่างเดียวก็หาไม่ กลับจะต้องระมัดระวังสิ่งเหล่านี้ให้แม่นในใจต่อมา "ห้ามลืมเด็ดขาด" พระแท้แต่ผิดกรุ เพราะพิมพ์เดียวกัน หรือคล้ายกัน ทำให้เช่าผิดราคาได้ เช่น พระพุทธชินราชใบเสมา จ.พิษณุโลก กับ สวรรคโลก เป็นต้น พระแท้ แต่หักชำรุด โดยเฉพาะพระหักคอ แต่ซ่อมไว้ดี ขอให้เพื่อนๆ พิจารณาบริเวณคอทุกครั้งด้วยครับ พระแท้ไม่หักแต่ซ่อมเสริม เช่นพระเทไม่เต็มพิมพ์ พระแต่ง การซ่อมจะทำให้พระสวยขึ้น แต่ราคาจะไม่เท่าพระสภาพเดิมๆ และสวยครับ พระแท้ ถูกกรุ ถูกพิมพ์ แต่ผิดราคาสูงเกินไป
       พระเนื้อดินต้องเคยชินเนื้อพระ พระกรุเนื้อดินนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับพระเนื้อชินแล้ว จะเล่นยากกว่าพระเนื้อชินอยู่อย่างหนึ่งคือ เนื้อพระ เพราะพระเนื้อดินแต่ละกรุจะมีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป และถึงแม้จะเป็นกรุเดียวกัน เนื้อเดียวกัน ก็ยังมีหลายกลุ่ม เนื้อหลายสี อันเนื่องมาจากการเผาองค์พระก่อนบรรรจุกรุ ดังนั้นการศึกษาพระเนื้อดินจะต้องศึกษาพระองค์จริงๆ ของกรุนั้นๆ เป็นองค์ทุกครั้งไป การดูพระแท้มากๆ องค์ ของกรุนั้นๆ จะทำให้เพื่อนๆ มีความชำนาญในพระกรุนั้นๆ เองโดยอัตโนมัติ อย่าลืม!! พิมพ์พระ มีความสำคัญ 50 % ทำให้รู้กรุพระ และพระถูกพิมพ์ เนื้อพระ มีความสำคัญ 25 % ทำให้รู้กรุพระ และพระถูกเนื้อ ความเก่าของพระ มีความสำคัญ 25 % ทำให้มั่นใจว่าพระแท้เก่า รวมกันเป็นพระกรุเนื้อดิน แท้ ดูง่าย 100 %

 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT