เว็บลิ้งค์ชมรมต่างๆ

เว็บไซต์วัดเกจิดังในสยาม
วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี
วัดหนองป่าพง จ. อุบลฯ
วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
วัดหัวป่า อ. ระโนด จ. สงขลา
วัดแก้วโกรวาราม จ. กระบี่
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
หลวงสมชาย วัดเขาสุกิม
ป้อนหมายเลขสิ่งของ


***พิมพ์หมายเลขสิ่งของจำนวน 13 หลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม

  หน้าหลัก  :  อดีตสู่ปัจจุบัน  :  เว็บบอร์ดชมรม  :  ตารางประกวดพระ  :  สาระน่ารู้  :  เล่าสู่กันฟัง  :  ติดต่อเรา
ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเดิม วัดเอก
ตำนานหลวงพ่อเดิม วัดเอก เชิงแสเหนือ
08-09-2009 Views: 9281

ตำนานหลวงพ่อเดิม วัดเอก เชิงแสเหนือ

 

        ตำนานพระนางเลือดขาว (จากสมุดข่อยเก่าแก่) กล่าวว่า พระนางบริบูรณ์ไปด้วยคุณธรรม มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา เคยเสด็จไปถึงเกาะลังกา นครศรีธรราชและสุโขทัย ในกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในการเสด็จเมืองนครศรีธรรมราชนั้น พระนางก็ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จากพระยาอโศก (ผู้เป็นบุตรพระยาอโศกองค์ก่อน) แล้วนำมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ วัดวังแก้ว และพระเจดีย์วัดสะทิ้งพระ พระเจดีย์ทั้งสององค์นั้น จึงได้เรียกกันว่าพระธาตุเจดีย์ (เป็นปูชนียสถานของประชาชนตั้งแต่กาลนั้นมา)

       นอกจากการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นเครื่องจูงใจให้เข้าถึงหลักสัจธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว พระนางยังได้จัดสร้างวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก ที่บริเวณโคกเมืองบางแก้ว อันเป็นเมืองของพระยากุมาร พระนางเลือดขาวได้สร้างไว้นั้น นอกจากพระธาตุบางแก้ว ซึ่งยังคงเจริญรุ่งเรืองรับมรดกต่างๆ ของเมืองพัทลุงไว้จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีวัดร้างที่อยู่ในตัวเมือง และรอบนอกเมืองเป็นจำนวนมากกว่า ๑๐ วัด พร้อมทั้งมีโบราณวัตถุ โบราณสถาน ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก พอที่จะยืนยันได้ว่า เมืองพัทลุงของพระยากุมาร และพระนางเลือดขาวนั้น มีความเจริญรุ่งเรืองในทางพระพุทธศาสนาอย่างยอดเยี่ยมทีเดียว

        ตำนานกล่าวต่อไปว่า พระนางเลือดขาวเสด็จไปที่ใด ก็มักจะสร้างวัด หรือพระพุทธรูปไว้เสมอ เช่นที่ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งประดิษฐานพระศรีสรรเพชรพุทธสิหิงษ์ ได้จารึกพระนามของพระนางเลือดขาวไว้ด้วย ในอำเภอระโนด สะทิ้งพระ และอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา ซึ่งเคยเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งเมืองพัทลุงในสมัยอดีตนั้น นามของพระนางเลือดขาวกับการสร้างวัดวาอาราม บำรุงพระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในความทรงจำ ยังคงเล่าลือต่อๆกันมาในระหว่างผู้รู้ทั่วๆไปฉะนั้น ชีวิตของพระนางเลือดขาวจึงควรยกย่องยกให้เป็นนางแก้วในประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง เช่นเดียวกับพระนางนพมาศของพระร่วงเจ้า หรือว่า พระนางจามเทวีแห่งนครหริภุญชัย

       เมื่อพระยากุมาร (พระสวามี) พระนางเลือดขาว ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ในวัดหลวงเมืองพัทลุงสำเร็จ จากนั้น ก็จัดการเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามโบราณประเพณี คือแต่งตั้งสมณะศักดิ์ให้แก่พระสงฆ์ ให้เป็นผู้รักษาพระมหาธาตุทั้ง ๔ ทิศ

      ในตำนานเกี่ยวกับการสร้างพระมหาธาตุประจำเมืองหริภุญชัย มีว่า "เมื่อเอาทองคำพอกเสาปราสาทมหาธาตุได้พันแผ่น มีน้ำหนัก ๘๐๐ คำผ้าขาว (ตาปะขาว) ทั้งหลายจึงไหว้พระมหาเถระเจ้า ผู้รักษาพระมหาธาตุทั้ง ๔ ตน" (จากพุทธานุสรณ์ ตอนตำนานหริภุญชัย) อันนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้ทางนครหริภุญชัย ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของคนไทยทางภาคเหนือนั้น เมื่อได้สร้างพระมหาธาตุประจำเมืองเสร็จ ก็ได้แต่งตั้งสมณะศักดิ์แก่พระมหาเถระ ให้รักษาพระมหาธาตุทั้ง ๔ ทิศด้วย

      สำหรับสมณะศักดิ์ของพระมหาเถระทางภาคใต้ คือที่เมืองนครศรีธรรมราช ไชยา และพัทลุง ซึ่งได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาทางภาคใต้นั้น ปรากฏหลักฐานว่า มีอยู่ ๔ ตำแหน่ง หรือ ๔ คณะ คือ

คณะกาแก้ว มีพระมหาเถระลังกาแก้ว เป็นหัวหน้าคณะ

คณะกาชาติ มีพระมหาเถระลังกาชาติ เป็นหัวหน้าคณะ

คณะการาม มีพระมหาเถระลังการาม เป็นหัวหน้าคณะ

คณะกาเดิม มีพระมหาเถระลังกาเดิม เป็นหัวหน้าคณะ

พระมหาเถระ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะ ก็เลือกเฟ้นเฉพาะพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ทำหน้าที่เสมือนกา ปกป้องรักษาพระมหาธาตุไว้ทั้ง ๔ ทิศ นั้งคือการเผยแผ่คำสอนขอพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย การเทศนาสั่งสอนประชาชน การอุปสมบท อมรมสั่งสอนกุลบุตร-ธิดา รวมทั้งการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพุทธบัญญัติด้วย อันนี้เป็นมูลเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นในแผ่นดิน ตามกุศโลบายของท่านเจ้าเมืองผู้ทรงธรรมในสมัยโบราณนั้นเอง

        หวนกลับมาพิจารณาถึงวัดในท้องที่อำเภอระโนดบางวัดในปัจจุบันซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทลุง ในอดีตพบว่ามีวัดบางวัดที่ลงท้ายด้วย แก้ว ราม และเดิม พิจารณาให้ลึกลงไปอีกก็เป็นวัดโบราณที่ชาวบ้านยกย่องนับถือกันว่า เป็นปูชณียสถานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ จึงเชื่อว่าชื่อเสียงเรียงนามที่กล่าวมานี้ หน้าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมณะศักดิ์ของมหาเถร ผู้รักษาพระมหาธาตุของเมืองพัทลุงในครั้งนั้นด้วย คือ

วัดเถรแก้ว มาจากวัดมหาเถระลังกาแก้ว(ต.ปากแตระ อ.ระ  โนด)

วัดพระเดิม มากจากวัดพระมหาเถระลังกาเดิม (ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์)

วัดการาม (กาหรำ) มาจากวัดมหาเถระลังการาม (ต.โรง อ.กระแสสินธุ์)

      ฉะนั้น จึงมีหลักฐานมายืนยันตามความเห็นที่กล่าวนี้ ขอนำท่านไปกราบนมัสการ "องค์หลวงพ่อเดิม" (พระมหาเถระลังการเดิม) ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเชิงแส เหนือ (วัดเอก) ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า เป็นมหาเถระลังกาเดิม อย่างแน่นอนที่ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณะศักดิ์ให้รักษาพระมหาธาตุที่วัดหลวง ของเมืองพัทลุงในอดีตอีกด้วย

      วัดเอก เป็นวัดโบราณ คงสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านเชิงแส (หมายถึงบ้านเก่าทางทิศตะวัดตกของวัดเอก ที่ชาวบ้านเรียกในขณะนี้ว่า"บ้านร้าง") วัดเอก ถ้าหากว่าเราพิจารณาตามตำนานแล้ว ก็พอที่จะทราบได้ว่าเคยเจริญรุ่งเรือง แล้วก็กลับเสื่อมกลายเป็นวัดร้างอยู่นานปีแต่องค์พระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเรียกกันว่าหลวงพ่อเดิมนั้นยังคงรักษาความขลัง หรือความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการบูชารับบนบานของชาวบ้านตลอดมา

     ส่วนมูลเหตุแห่งความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ของ"องค์หลวงพ่อเดิม"นั้น พิจารณาทั่วๆไปก็มีมูลเหตุหลายประการ ตามที่ผู้รู้ทั้งหลายได้เล่าสืบต่อกันมา เช่น

๑. วัดเอก มีเพลา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ลายแทง ปัจจุบันก็ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านเชิงแส ความว่า "วัดเอกเจ้าข้า มีนาสามมุม มีทองสามตุ่ม อยู่หัวมุมนา วัดเข้าสามศอก วัดออกสามวา วัดเข้าไปเหล็กในแทงตา วัดออกมาหญ้าคาแทงหู"

๒. วัดเอก มีที่ดินนาเป็นจำนวนมาก ที่ตั้งอยู่รอบๆบริเวณวัด ขณะนี้ชาวบ้านเรียกว่า "นาวัด" ทั้งๆที่ ที่ดินเหล่านั้นได้แปลงกรรมสิทธิ์ไปหมดแล้ว จึงเชื่อว่าวัดเอกในสมัยก่อนคงได้รับกัลปนาจากพระเจ้าแผ่นดิน หรือท่านเจ้าเมือง ตลอดถึงการยกเว้นภาษีอากรตลอดถึงส่วยต่างๆด้วย

๓. วัดเอก มีโบราณสถานและวัตถุสำคัญยิ่ง ตามที่กล่าวแล้วว่า "องค์หลวงพ่อเดิม" เป็นพระพุทธรูปคู่กับวัดนี้ตลอดมา เพราะชาวบ้านทั่วๆไปถือกันว่า มีอภินิหาร หรืออำนาจลึกลับที่จะดลบันดาลปัดเป่าภัยพิบัติต่างๆของเขาให้อันตรธานไปฉะนั้น "หลวงพ่อเดิม" จึงเป็นปูชนียวัตถุของประชาชนตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่บางท่านคิดว่า ระบบสังคมสมัยใหม่หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อถือต่างๆไปอย่างมาก ต่อความยึดมั่นต่ออภินิหารของ "หลวงพ่อเดิม" นั้น มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย เมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษา และทุกๆเดือนของปีจะมีกุลบุตร-ธิดาเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางมาจากที่ต่างๆ ทั่วทุกสารทิศมากระทำการอุปสมบท และบวชชีต่อหน้าพระพักตร์ของ"หลวงพ่อเดิม" ตามโบราณประเพณีที่เกิดจากแรงศรัทธา ที่ถูกฝังแน่นลงในสายเลือด ต่อเนื่องกันมาจากบรรพบุรุษเป็นลำดับมา

ประวัติหรือเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ "องค์หลวงพ่อเดิม" ตามที่ผู้เขียนได้ทราบมานั้น เช่น" องค์หลวงพ่อเดิม" องค์เดิมนั้น เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก สร้างด้วยหินปะการัง ต่อมาได้สร้างครอบองค์เดิม แต่ในสมัยใดไม่มีใครทราบได้ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๗๐ ซ.ม. สูงประมาณ ๑๒๐ ซ.ม. แต่เมื่อประมาณ ๗๐ ปี พระอธิการเจียม ได้ทำการบูรณะพระอุโบสถ และซ่อมแซมบางส่วนของพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์ ที่ภายในพระอุโบสถ (หลังเก่า)

อนึ่ง ในการที่หลวงพ่อเดิมมาประดิษฐานที่วัดเอก ก็มีคำเล่าลือต่างๆกันมาว่า หลวงพ่อเดิม ประดิษฐานอยู่บนแพลอยน้ำ ประชาชนได้ไปพบแล้วก็นิมนต์ท่านจากวัดหนึ่งทางทิศตะวันออกขณะนิมนต์มานั้น ก็เพียงแต่ใช้เส้นด้ายลากมาตามลำคลอง (เรียกว่าคลองพระ ขณะนี้ตื้นเขินเกือบหมดแล้ว จากเจดีย์งาม เชิงแส) และผู้เขียนได้รับการบอกเล่าต่อกันมาว่า เมื่อหลวงพ่อเดิมที่ประชาชนนิมนต์มานั้น เมื่อมาถึงหน้าบ้านเชิงแสมีวัดอยู่ถึง ๓ วัด คือ วัดเชิงแส เหนือ (วัดเอก) วัดเชิงแส กลาง วัดเชิงแส ใต้ (หัวนอน) ประชาชนได้นิมนต์ไปทางวัดใต้ และวัดกลางท่านก็ไม่ไป (คือ ลากแพไม่เดิน) เมื่อประชาชนเห็นดังนั้น จึงนิมนต์ไปอยู่วัดเชิงแส เหนือ (วัดเอก) ปรากฏว่าท่านยินดีที่จะไปอยู่ที่วัดนั้น ลำคลองสายนั้น ขณะนี้ยังปรากฏอยู่ชาวบ้านเรียกว่าคลองแพ

๔. คำว่า "วัดเอก" นั้น ผู้เขียนเคยตรวจดูแผนที่การสร้างเมืองพัทลุง ในราวปี พ.ศ. ๒๑๐๐ ได้พบชื่อวัดนี้ เขียนว่า "วัดพระครูเอกอุดม" จึงพอเข้าใจคำว่า "เอก" นั้นมาจากสมณะศักดิ์ขอเจ้าอาวาสในสมัยนั้น

๕. วัดเจดีย์งาม เป็นวัดโบราณยิ่งกว่า วัดเอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ วัดเอก ประมาณ ๗ กิโลเมตร วัดนี้มีกลุ่มเจดีย์แบบลังกา ซึ่งสร้างด้วยหินปะการัง เช่นเดียวกับ หลวงพ่อเดิม องค์เดิม พระเจดีย์สร้างนั้นก็เป็นปริศนาธรรม คือ มีพระเจดีย์องค์ใหญ่สวยงามยิ่ง แวดล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๘ องค์ ซึ่งหมายถึงมรรค ๘ อันเป็นหัวใจของธรรมในพระพุทธศาสนา เห็นได้ชัดว่าผู้สร้างเจดีย์กลุ่มนี้ ยึดเอาธรรมอันสูงของรพระพุทธศาสนามาเป็นหลัก

       พระมหาเถระลังกาเดิมได้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ การอุปสมบท การอบรมสั่งสอน แก่กุลบุตรกุลธิดาแล้ว เชื่อว่าท่านเองนั้นเองที่เป็นผู้สร้างพระเจดีย์ ๙ องค์ ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์งาม อันเป็นปูชนัยวัตถุ ตั้งแต่โบราณตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ สำหรับวัสดุที่นำมาก่อสร้างนั้น ก็เป็นหินปะการัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฉงนอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราคิดถึงบุญบารมีของพระมหาเถระลังกาเดิมตามที่กล่าวมาแล้วนั้นจึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจมากนัก ในการที่จะนำเรื่อ ชักชวนชาวบ้านไปเอาหินที่เกาะต่างๆ ตามริมฝั่งทะเล มาสร้างเป็นพระเจดีย์ให้สำเร็จขึ้นมาได้

     พระมหาเถระลังกาเดิม ได้บำเพ็ญชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาถึงกาลมรณภาพ จากนั้น บรรดาศิษยานุศิษย์ ก็ได้ทำการถวามพระเพลิง แล้วนำอัฐิของท่านบรรจุไว้ ในพระพุทธรูปที่ท่านได้สร้างไว้ด้วยหินปะการัง เช่นเดียวกับพระเจดีย์ ๙ องค์ วัดเจดีย์งาม พระพุทธรูปองค์นั้นชื่อว่า "พระเดิม" มาจากพระพุทธรูปของพระมหาเถระเจ้าลังกาเดิมนั้นเองนั้นเอง ตามข้อสันนิษฐานนี้ก็หมายความว่า พระเดิมนั่นเองเป็นผู้สร้างเจดีย์งาม

      ในกาลต่อมา ประชาชนส่วนหนึ่งของหมู่บ้านพระเจดีย์งาม ได้มีเหตุจำเป็นต้องยกครอบครัวไปหาที่ตั้งหลักแห่งใหม่ ประกอบการทำมาหากินทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านพระเจดีย์งาม (บ้านเก่าใกล้ๆกับวัดเอก) และเมื่อได้ตั้งรกรากลงอย่างมั่นคงแล้ว ก็จัดการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในหมู่บ้านนั้นเป็นการสำเร็จแล้ว ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์องค์หนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหาเถรลังกาเดิม ที่ได้มรณภาพไปแล้วมาเป็นเจ้าอาวาส และท่านก็ได้นำพระพุทธรูปของพระมหาเถรลังกาเดิมมาประดิษฐาน ณ. วัดนี้ ต่อจากนั้น ก็ได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้นให้มีความเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งท่านได้รับสมณะศักดิ์เป็น "พระครูเอกอุดม" ชื่อของวัดนี้จึงกลายเป็นวัดเอก คู่กับพระเดิม

   ท่านก็ได้ทราบประวัติความเป็นมาของ "หลวงพ่อเดิม" แล้วการเดินทางไปนมัสการที่วัดเชิงแสเหนือนั้น การเดินทางไปด้วยทางเรือก็ได้จากหาดลำปำ จังหวัดพัทลุง นั่งเรือไปวัดเชิงแสเหนือ หรือเดินทางโดยทางรถยนต์ จากสงขลา ถนนหัวเขาแดง - ระโนด หรือจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านอำเภอระโนด - หัวเขาแดง เมื่อถึงหมู่บ้านวัดพระเจดีย์งามก็นั่งรถไปยังวัดเชิงแสอีกประมาณ ๗ ก.ม.



ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: หลวงพ่อเดิม วัดเอก
»วัตถุมงคล หลวงพ่อเดิม วัดเอก เชิงแสเหนือ
18-10-2009
»ประวัติโรงเรียนหลวงพ่อเดิมประสิทธิ์วิทยา
08-09-2009
»ประวัติวัดเอก เชิงแสเหนือ
18-10-2009
»ตำนานหลวงพ่อเดิม วัดเอก เชิงแสเหนือ
08-09-2009
 
------------------------
  หน้าหลัก  
  คำถามที่มีการถามบ่อย  
  เราเล่นพระทำไม ?  
  กฎหมายพระเครื่อง  
  เกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อย  
  สมัครเปิดร้านค้า  
  การชำระเงินค่าร้านค้า  
  ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง  
  ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับร้านค้า  
 
หน้าหลัก  อดีตสู่ปัจจุบัน  เว็บบอร์ดชมรม  ตารางประกวดพระ  สาระน่ารู้  เล่าสู่กันฟัง  ติดต่อเรา
Copyright©2024 zoonphra.com
Powered by Tactical IT