พระสมเด็จเนื้อผงพิมพ์พระครูมูล วัดประสาทบุญญาวาส กรุงเทพฯ ปี ๒๕๐๖
พระชุดวัดประสาทบุญญาวาส สามเสน กรุงเทพฯ ปี ๒๕๐๖ มวลสารผสมผงวัดระฆัง และสมเด็จบางขุนพรหม จัดสร้างโดย "พระสมุห์อำพล" อดีตเจ้าอาวาสวัดประสาทฯ ในช่วงปี ๒๕๐๕ - ๒๕๐๙ มวลสารผสมผงวัดระฆังฯ โดยท่านพยายามเสาะหาผงวิเศษจากหลายๆพระอาจารย์รวมทั้งชิ้นส่วนพระเครื่องแตกหักเก่าๆทั้งพระกรุและพระเกจิอาจารย์นับไม่ถ้วน โดยเฉพาะชิ้นส่วนแตกหักของ "สมเด็จบางขุนพรหมกรุใหม่" ที่ทางวัดเปิดกรุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีจำนวนหลายลังทีเดียว ว่ากันว่า พระผงวัดประสาทฯ มีชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จบางขุนพรหมมีผสมอยู่มากกว่าสมเด็จบางขุนพรหม ๐๙ เสียอีก พระเกจิที่มาร่วมพิธีวัดประสาทฯ นั้นก็มีมากถึง ๒๐๐ กว่ารูป จนนั่งภายในพระอุโบสถไม่หมด ต้องให้นั่งข้างนอกพระอุโบสถแล้วโยงสายสิญจน์ออกมา พิธีในครั้งนั้นจัดว่าเป็นพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดนับแต่พิธีปลุกเสกพระเครื่องฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นต้นมา
*** มวลสาระสำคัญที่ได้รับมอเพื่อการจัดสร้างพระมีดังนี้ *** 1.มวลสารในการจัดสร้างสุดยอด มีส่วนผสม - ผงสมเด็จบางขุนพรหม พระครูบริหารคณาวัตร รองเจ้าอาวาสมอบให้ - ผงพระหักสมเด็จพระพุฒาจารย์โต - ผงพระหักสมเด็จปิลันท์ ซึ่งพบในเจดีย์วัดเทพากร - ผงพระเครื่องของขวัญวัดปากน้ำ ลพ.สดมอบให้วัดประสาทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ - ผงพระหักกรุลำพูน - ผงพระกรุวัดพลับ - ผงหลวงพ่อโอภาสี เป็นต้น
เกจิที่ร่วมพิธีปลุกเสก อาทิ เช่น อาจารย์ทิม วัดช้างไห้ ลป.โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ลพ.น้อย วัดธรรมศาลา ลพ.เงิน วัดดอนยายหอม ลพ.พรหม วัดช่องแค ลป.ทิม วัดละหารไร่ ลพ.กวย วัดโฆสิตาราม ลพ.คล้าย วัดสวนขัน ลป.เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว ลป.เฮี้ยง วัดป่าฯ ลพ.แดง วัดเขาบันไดอิฐ ลพ.มุ่ย วัดดอนไร่ ลพ.ทบ วัดชนแดน ลป.เขียว วัดหรงมล ลพ.จง วัดหน้าต่างนอก ลพ.เต๋ วัดสามง่าม ลป.สี วัดสะแก ลป.เทียน วัดโบสถ์ ลป.นาค วัดระฆังฯ ลพ.เนื่อง วัดจุฬามณี ลพ.โบ๊ย วัดมะนาว ฯลฯ
ประวัติพระสมเด็จพระครูมูล วัดสุทัศน์
พระครูมูลท่านมีฐานะเป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดาของวัดสุทัศน์ เท่านั้น เป็นพระสวดพิธีธรรมในพิธีปลุกเสกพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ของวัดสุทัศน์ที่วัดสุทัศน์จัดขึ้นไม่ค่อยปรากฎชื่อเสียงทางวิทยาคมเหมือนพระเกจิอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในยุคสมัย 60-70 ปีก่อน แต่ความรู้เรื่องวิทยาคมลูกศิษย์บอกว่าท่านก็มีพอตัวอยู่ เพราะว่าพระสงฆ์สมัยก่อนเมื่อบวชแล้วหรือยิ่งบวชนานหลาย ๆ พรรษา ก็มักจะมีการเรียนวิชาอาคมเพื่อประดับตัวเอาไว้เสมอ
พระครูมูลท่านรู้กิตติศัพธ์ของพระสมเด็จวัดระฆังมานานแล้ว ท่านจึงพยายามเก็บรวบรวมพระสมเด็จวัดระฆังที่ชำรุดแตกหักเป็นท่อน ๆ เอาไว้ คนเมื่อรู้ว่าพระครูมูลเก็บรวบรวมชิ้นส่วนชำรุดของพระสมเด็จวัดระฆังเพื่อจะสร้างพระขึ้นใหม่ จึงนำเอาชิ้นส่วนของพระสมเด็จวัดระฆังมาถวายท่านกันเรื่อย ๆ เนื่องจากสมัยนั้นคนยังมีคติไม่นิยมเอาพระที่แตกหักชำรุดไว้ในบ้าน จึงทำให้มีคนนำเอาพระสมเด็จวัดระฆังที่ชำรุดแตกหักมามอบให้พระครูมูลมากขึ้นทุก ที ๆ ว่ากันว่าพระครูมูลท่านเก็บสะสมชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จวัดระฆังได้เป็นจำนวนมากเป็นปี๊บ ๆ กันเลย
เมื่อเก็บรวบรวมชิ้นชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จวัดระฆังได้เป็นจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการแล้ว พระครูมูลจึงเอาชิ้นส่วนพระสมเด็จวัดระฆังเหล่านั้นมาป่นให้ละเอียดและผสมกับปูนขาวเป็นเนื้อหลัก แล้วสร้างเป็นพระสมเด็จขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2484 เป็นพิมพ์เกศบัวตูม เมื่อกดพิมพ์พระได้จำนวนเท่าที่ต้องการแล้ว พระครูมูลท่านได้นำเอาพระสมเด็จที่ท่านสร้างนี้เข้าร่วมพิธีปลุกเสกพร้อมกับพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ที่ทางวัดสุทัศน์จัดขึ้น
ความจริงแล้วพระสมเด็จที่พระครูมูลสร้างขึ้นมาในครั้งนั้นถึงจะไม่นำฝากเข้าร่วมพิธีปลุกเสก ก็มีความศักสิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว เนื่องมาจากมีผงเก่าผสมอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง แต่ด้วยความที่อยากให้พระสมเด็จมีพุทธคุณมากยิ่ง ๆ ขึ้น พระครูมูลท่านจึงเอาพระเข้าร่วมพิธีปลุกเสกด้วย ระหว่างนั้นเมื่อมีใครมาขอพระสมเด็จจากพระครูมูลท่านก็จะหยิบแจกให้ฟรี ๆ ไปเรื่อย ๆ ส่วนที่เหลือเมื่อมีพิธีปลุกเสกที่วัดสุทัศน์ครั้งใด ท่านก็จะนำเอาพระสมเด็จฝากเข้าร่วมในพิธีอีก ใครมาขอก็แจกให้ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพระสมเด็จที่ท่านสร้างครั้งแรกหมดไป
จนกระทั่งมาในปี พ.ศ. 2495 พระครูมูลท่านได้เอาชิ้นส่วนของพระสมเด็จวัดระฆังที่เหลือจากการสร้างพระสมเด็จครั้งแรก มาผสมกับชิ้นส่วนของพระสมเด็จวัดระฆัง และพระสมเด็จบางขุนพรหมที่ท่านหามาเพิ่มเติมทีหลังสร้างขึ้นใหม่อีก ครั้งนี้ท่านสร้างเป็นพิมพ์พระธาน แบบมีหน้าตา ซึ่งจะปรากฏรายละเอียดสวยงามกว่าพระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูมที่ท่านสร้างขึ้นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีการสร้างเป็นพิมพ์นางพญา พิมพ์สามเหลี่ยม และ พิมพ์พระคะแนน ด้วย ซึ่งการสร้างพระสมเด็จของพระครูมูลครั้งหลังนี้ท่านก็ทำเหมือนครั้งแรก คือฝากเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดสุทัศน์จัดขึ้นทุกครั้ง แล้วก็แจกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดไปในที่สุด
พระสมเด็จของพระครูมูลมีการนิยมมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สมัยนั้นคนที่ได้รับแจกพระสมเด็จจากท่านต่างมีประสบการณ์ทางด้านนิรันตรายกันมาก จึงนิยมใช้แทนพระสมเด็จวัดระฆังนับแต่นั้นมา พูดถึงพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยมของพระสมเด็จพระครูมูลก็มีผู้มีประสบการณ์กันมากไม่รู้เท่าไหร่ ๆ กันแล้ว เพราะว่าไปแล้วการใช้พระสมเด็จพระครูมูลก็เหมือนใช้พระสมเด็จวัดระฆังดี ๆ นั่นเอง นอกจากนี้พระสมเด็จของพระครูมูล โดยเฉพาะพิมพ์ทรงเจดีย์ที่เป็นพระยุคแรกของท่าน จะมีเนื้อหามวลสารเข้มจัดคล้ายกับเนื้อพระสมเด็จวัดระฆังมาก มีการนำพระของท่านมาแกะเปลี่ยนพิมพ์ขายเป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ไปแล้วมากมาย แม้แต่ชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จของท่านก็นำไปแกะเป็นพระคะแนนแล้วหลอกว่าเป็นชิ้นส่วนสมเด็จวัดระฆังขายไปองค์ละหลายหมื่นบาท เป็นเหตุที่ทำให้ท่านต้องทำพิมพ์พระสมเด็จขึ้นใหม่เป็นพิมพ์แบบมีหน้าตา ในปี 2495 เพื่อแก้ปัญหาคนนำพระของท่านไปหลอกขายแก่ผู้ไม่รู้เสียมากมาย
สำหรับค่านิยมในการเล่นหาของพระสมเด็จพระครูมูล ถ้าเป็นของแท้แล้ว โดยเฉพาะพิมพ์เกศบัวตูมจะมีราคาสูงถึงหลักพันกลาง ๆ แต่ถ้าเนื้อจัดมวลสารเข้มแบบวัดระฆัง ราคาอาจจะสูงขึ้นไปจนถึงหลักพันปลาย ๆ ส่วนพิมพ์พระประธานที่มีหน้าตาก็อยู่ที่หลักพันต้น ๆ แต่ถ้าสวยมากก็อยู่ที่หลักพันกลาง ๆ แต่ถ้าสวยมากและเนื้อจัดแก่มวลสาร ก็จะมีราคาสูงถึงหลักพันปลายได้เช่นกัน สำหรับพิมพ์สามเหลี่ยม พิมพ์นางพญา และพิมพ์คะแนน ราคาจะอยู่ที่หลักพันต้น แต่ค่อนข้างหายากอยู่เหมือนกัน
สรุปว่าพระสมเด็จของพระครูมูล เป็นพระที่น่าใช้มาก เพราะเป็นพระตระกูลสมเด็จยุคปลายที่มีส่วนผสมของมวลสารของพระสมเด็จวัดระฆังไว้มากที่สุด ในระดับเดียวกับ พระสมเด็จของหลวงปู่นาค วัดระฆัง ที่สร้างยุคต้น พ.ศ. 2485 ทำให้น่าเก็บไว้ศึกษาและบูชาอย่างยิ่ง |