[ รายละเอียด ] เครื่องรางชนิดหนึ่งที่มักเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ จากคนกลุ่มหนึ่ง ที่เข้าใจเรื่องราวทางไสยศาสตร์อย่างฉาบฉวย แบบงูงู ปลาปลาแล้ว เอาความรู้สึกมาตัดสินมากกว่าใช้ปัญญาและเหตุผลก็คือ เครื่องรางในรูปแบบที่เรียกว่า ชูชก เป็นภาพลักษณ์ที่มักถูก แสดงให้เห็นว่าเป็นด้านมืดของสังคมที่หมายถึง คนขี้งก คนขี้ขอ ปัจจุบัน มีนักวิชาการทั้งภาคสังคมวิทยา และ พุทธศาสนา ออกมาติติงเรื่องการที่หลายวัดหลายเกจิอาจารย์ ได้ระดมสร้างเครื่องรางชนิดนี้ ออกให้ศาสนิกชนเช่าบูชา แบบที่ เรียกว่า ให้บูชาความโลภ ซึ่งได้วิพากษ์ ว่าเป็นจุดวิกฤตของสังคม ที่ให้ มาเคารพบูชาบุคคลที่เป็นเสมือนด้านลบในพุทธศาสนา เพราะชูชกก็คือ เทวทัต ผู้ประทุษร้ายต่อ พระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์เป็นภาพลักษณ์แทนความดีงามที่ต้องเคารพบูชา
เครื่องราง ของขลัง "ชูชก" เป็นวัตถุมงคลรูปแบบหนึ่งซึ่งเกจิอาจารย์ในอดีตนิยมจัดสร้างขึ้น เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์พูนสุข มีกินมีใช้ ได้โชคลาภ อาทิ ชูชกไม้แกะของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร, ชูชกหลวงพ่อพูน วัดใหม่ปิ่นเกลียว จ.นครปฐม แม้ในยุคปัจจุบันก็มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่สืบสานตำนานการสร้างชูชกไว้ ไม่ให้สูญหายไป เช่น หลวงพ่อสมพงษ์ วัดใหม่ปิ่นเกลียว, หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ, หลวงพ่อสิน วัดละหารใหญ่ จ.ระยอง ฯลฯ ที่สำคัญ ในปี 2553 เซียนดังได้แนะนำให้ผู้ที่มีปีชงกับปีเสือให้หา "ชูชก" มาพกพาเป็นการแก้เคล็ด ส่งผลให้เครื่องราง ชูชกมีกระแสความนิยมอย่างสูง สำหรับรูปแบบเครื่องรางชูชกที่โบราณกำหนด จะต้องมีลักษณะคล้ายถุงคืออ้วนท้องป่อง ถือน้ำเต้าไม้เท้าสะพายถุงย่าม ฯในท่าเดินมีเคล็ดว่าน้ำเต้าไม่อด ไม้เท้า ช่วยค้ำ ถุงย่ามมีเงินเก็บ ท่าเดินก็คือหาทรัพย์นั่นเองมวลสารที่ใช้ก็มีของอาถรรพ์ทางมหานิยม เช่นไม้พันหลัก ไม้ขนุน บางสำนักใช้กระดูกของ หมูดุด หรือปลาพะยูนก็มี การทำเครื่องราง "ชูชก" นั้น แต่เดิมต้องมั่นใจว่าวิชาอาคมของผู้ปลุกเสกนั้นแก่กล้าจริงๆ ที่จะคุ้มโทษทั้งปวงที่จะเกิดกับตัวได้ เกจิอาจารย์ผู้นั้นจึงจะกล้าสร้างเครื่องราง "ชูชก"
วิชาชูชก ที่เลื่องชื่อที่สุดของวงการเครื่องรางของขลังไทยคือ ของท่าน หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสงคราม นั้นเมื่อค้นลึกๆลงไปแล้วพบว่า ท่านเป็นคนปทุมธานี และเป็นชาวมอญ วิชาชูชกของท่านก็เป็นวิชามอญและชูชกแบบมอญนี้เอง ที่มีการนำมาทำเครื่องรางจนปรากฏผลต่างๆ นานา จัดเป็นเครื่องรางในรูปแบบชูชกอันดับต้นๆ การใช้วิชาชูชก ก็คือ การสะกด การสั่งจิต ให้ผู้อื่นยอมทำตามเรา ซึ่งจะมีเคล็ดปลีกย่อยไม่ใช่คาถาอย่างเดียว ผู้เรียนการสั่งจิต ต้องรู้ ช่วงเปิด ของจิต ซึ่งเข้าใจก็จะใช้วิชาทางจิตได้มากขึ้น เมื่อจิตเปิดรับคำสั่งก็ ทำให้เป็นไปได้ทั้งหมดแม้ผู้ทรงวิทยาคมเอง หาก เผอเรอ ปล่อยให้เขาสั่งจิตได้ในจังหวะเปิดรับ ก็เสร็จเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น แสนตรีเพชรกล้า ถูก มนต์จังงังของขุนแผน ทำให้ ขยับไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แสนตรีเพชรกล้าซึ่งร่ำเรียนคาถาอาคมมามากขนาดนั้นจะไม่รู้จักวิธีสะกด และวิธีกันตัว แต่บางครั้ง การเผลอสติก็เปิดช่องให้กระทำได้ เหมือน นักมวยฝีมือที่สูสีกัน แค่กะพริบตาก็แพ้ได้ วิชาชูชก นั้นถือคติว่าชูชก สามารถขอได้ทุกเรื่อง และเป็นบุรุษโทษ ซึ่งเท่ากับว่าตัวชูชก รับเรื่องที่ไม่ดีไปหมดแล้ว ชูชก ไปอยู่ที่ต่ำสุด ซึ่งไม่มีการตกต่ำไปกว่านี้อีก เครื่องรางชูชกจึงแสดงนัยในทางกลับกันว่า เมื่อตกต่ำถึงที่สุด ต่อไปก็มีแต่ขึ้นเพราะตกลงไปอีกไม่ได้แล้ว เป็นการสอนให้เห็นที่ต่ำก่อนขึ้นที่สูง เป็นกลเม็ดการใช้จิตสั่งบังคับเหตุการณ์ ซึ่งในวิชาสะกดจิต ที่มีสอนกันในสถาบัน มาตรฐานทั่วโลก เขาก็มีการใช้อำนาจจิตแบบนี้ แต่สอนกันในขั้นสูง ซึ่งวิชามายาศาสตร์โบราณของไทยก็มียกตัวอย่างเช่น วิชาชูชก นี้เองดังนั้น การทำเครื่องรางชูชก จริงๆนั้นโบราณเขาไม่ได้สอนให้คนโลภ หรือให้เอาอย่างชูชก แต่เมื่อเห็นชูชก ก็ต้องนึกถึงพระเวสสันดร เพราะเป็นของคู่กัน แล้วก็นึกถึงเรื่องราวในคาถาพัน หรือ เวสสันดรชาดก นึกถึงการบำเพ็ญบารมีของพระสมณะโคดม ว่าเสียสละเพียงใดกว่าจะได้พบยอดธรรมะมาสั่งสอนเวไนยสัตว์ นึกถึง การเป็นผู้ให้และผู้รับ นึกถึงโทษ ที่ชูชกได้รับเพราะโลภไม่เลือก ทั้งนี้ก็เพราะว่าวรรณคดีคาถาพันนั้นคนไทยพุทธ รู้จักกันดีอยู่แล้ว ระหว่างชูชก-พระเวสสันดร ไม่ต้องเล่าก็รู้ว่า เรื่องเป็นอย่างไร และใครเป็นอย่างไรในบั้นสุดท้าย มาถึงตรงนี้แล้วไม่สงสัยกันบ้างหรือ ว่า ทำไม ไม่ทำเครื่องรูปพระเวสสันดรกันบ้าง ทำไมถึงทำชูชก ก็เพราะว่า โบราณท่านสอน ให้เห็นโทษ ก่อนคุณนั่นเอง เพราะ โทษ นั้นย่อมนำทุกข์มาให้หากไม่รู้จัก ส่วน คุณ นั้นจะรู้จักหรือไม่ก็มีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ รู้จักชูชก ที่ว่าเป็นบุรุษโทษ เมื่อรู้จักโทษ ว่าอย่างนี้ อย่างนั้นเป็นโทษ แล้วเพียรละเสีย ชีวิตที่ดำรงอยู่ก็คงมีแต่ส่วนคุณ ส่วนประโยชน์ เพราะรู้จักละเลิกสิ่งที่เป็นโทษไม่มีประโยชน์ได้นั่นเอง
ชูชก สุดยอดเครื่องรางแห่ง การขอ
ในบรรดาเครื่องรางของขลังที่มีนามว่า ชูชก นี้ที่มีความยอดเยี่ยมด้านโชคลาภ และเมตตามหานิยมสูง
ชูชก มีอานุภาพทางด้านเสริมดวงในทางด้านขอโชคขอลาภ กู้หนี้ยืมสิน ขอลาภเงินทอง เจรจาขอผัดผ่อนหนี้สิน ขอเลื่อนและขอลาภจากผู้ใหญ่และด้านการขอทุกชนิด จึงเป็นที่มาของการบูชาชูชก สุดยอดของการขอสิ่งสูงสุดของ พระเวสสันดร หรือเลือดในไส้นั่นเอง และที่สำคัญมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ
จัดว่าเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่ง สุดยอดเครื่องรางแห่งการขอ ขอทานเฒ่าในนามที่ชื่อว่า ชูชก ผู้ที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่บารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ในฐานะผู้ขอกับผู้ให้
ตำนานชูชกปรากฏในมหาเวสสันดรชาดก พระเวสสันดรอันเป็นชาติสุดท้ายของการสั่งสมบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ชูชกเป็นพราหมณ์อยู่ในเมืองกลิงคราษฎร์ เที่ยวท่องขอทานไปทั่ว และด้วยนิสัยประหยัด มัธยัสถ์ รู้จักอดออม เงินที่ขอเขามาเก็บไว้จึงมีมากมาย เข้าขั้นเศรษฐี ชูชก นำไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้ ครั้นเมื่อกลับไปทวงถาม ปรากฏว่าเพื่อนได้ใช้เงินหมดไปแล้ว เลยยกลูกสาว คือ นางอมิตดา วัยแรกรุ่นสวยงามให้แทน
ทั้งที่ชูชกมีรูปร่างอุบาทว์อัปลักษณ์ยิ่งนัก แต่นางอมิตดาก็ยังขยันปรนนิบัติสามีเป็นอย่างดี นางตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร ดูแลบ้านเรือนไม่มีขาดตกบกพร่อง ความประพฤติที่ดีเพียบพร้อมของนางอมิตดา ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายในหมู่บ้านนั้น ในไม่ช้าบรรดาพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันตำหนิติเตียนภรรยาของตน ที่มิได้ประพฤติตนเป็นแม่บ้านแม่เรือนอย่างนางอมิตดา ทำให้พวกภรรยาพราหมณ์อิจฉาริษยามาคอยด่าทอ นางอมิตดาอยู่ทุกวัน
นางอมิตดามาเล่าให้ชูชกฟัง ชูชก จึงบอกว่า ต่อไปนี้นางไม่ต้องทำการงานสิ่งใด ชูชกจะเป็นฝ่ายทำให้ทุกอย่าง นางอมิตดาจึงว่า "ภรรยาที่ดีจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร จะปล่อยให้สามีมาปรนนิบัติรับใช้ เราทำไม่ได้หรอก ลูกหญิงที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนมาดี ย่อมจะไม่นั่งนอนอยู่เฉยๆ ดีแต่ชี้นิ้วให้ผู้อื่นปรนนิบัติตน นี่แน่ะ ชูชก ถ้าท่านรักเราจริง ท่านจงไปหาบริวารมาปรนนิบัติรับใช้เราดีกว่า"
ชูชก ได้ฟังดังนั้น ก็อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะไปหาข้าทาสหญิงชายมาจากไหน นางอมิตดาจึงแนะว่า "ขณะนี้พระเวสสันดรเสด็จออกมาจากเมืองสีพี มาทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า พระองค์เป็นผู้ใฝ่ในการบริจาคทาน ท่านจงเดินทางไปขอบริจาคพระชาลี กัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรมาเป็นข้าทาสของเราเถิด"
ชูชกจึงไปทูลขอพระโอรสธิดา เพื่อเป็นข้าช่วงใช้ของตน พระเวสสันดรทรงมีพระทัยยินดีที่จะทรงกระทำบุตรทาน คือ การบริจาคบุตรเป็นทาน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เมื่อได้ตัวพระชาลี กัณหา แล้วระหว่างเดินทางกลับ บังเอิญผ่านไปหน้าที่ประทับพระเจ้าสญชัยทรงทอดพระเนตรเห็นพระนัดดาทั้งสอง ก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า ชูชกทูลว่า พระเวสสันดร ทรงบริจาคพระชาลี กัณหา ให้เป็นข้าทาสของตนแล้ว
พระเจ้าสญชัยก็โปรดให้เบิกสมบัติท้องพระคลังมาไถ่ตัวพระนัดดาจากชูชก และโปรดให้จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูชูชก ชูชกพราหมณ์เฒ่าขอทาน ไม่เคยได้บริโภคอาหารดีๆ ก็ไม่รู้จักยับยั้ง บริโภคมากจนทนไม่ไหว ถึงแก่ความตายในที่สุด
ด้วยเหตุที่ชูชกผู้ที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่บารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ และพื้นฐานของชูชกมีลักษณะเกล้าผมมวยแบบพราหมณ์ มีหนวดเครา หลังค่อม ไม่สวมเสื้อ ถือไม้เท้า และสะพายย่าม มีเงินทองมากมาย มีกินมีใช้ จึงเป็นที่มาของเครื่องรางในตำนานอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีคติความเชื่อทางในทางไสยศาสตร์ยกย่องชูชกว่า เป็นคนมีเสน่ห์ มีลาภมาก ข้าวปลาอาหาร บ้านเรือน และบริวาร จะขออะไรใครเขาก็ให้ เป็นการกระตุ้นให้อยากทำทาน เป็นผู้เสียสละ สำหรับผู้ที่เคยฟังเทศน์มหาชาติ โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชก พระนักเทศน์หลายท่านได้มีข้อคิดประจำกัณฑ์ ว่า
๑.ของที่รักและหวงแหนที่โบราณห้ามฝากผู้อื่นไว้คือ เงิน ม้า เมีย ยิ่งน้องเมีย ห้ามฝากเด็ดขาด อันตรายมาก ๒.ภรรยาที่ดีย่อมไม่ย่อหย่อนต่อหน้าที่ ข้าวตำ ตักน้ำ ฝืนตอหักหา น้ำร้อนน้ำชา เตรียมไว้ให้เสร็จ ๓.ของไม่คู่ควรย่อมมีปัญหา ตำราหิโตปเทศ กล่าวว่า ความรู้เป็นพิษเพราะเหตุที่ไม่ใช่ อาหารเป็นพิษเพราะเหตุไฟธาตุไม่ย่อย ปราสาทเป็นพิษสำหรับทุคคตะ เมียสาวเป็นพิษเพราะผัวแก่ ฉะนั้นไม่ควรริเป็นวัวแก่ที่คิดจะเคี้ยวหญ้าอ่อน
|