อดีตชุมชนคลองแดนในความทรงจำของข้าพเจ้า
พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำ ลำคลองเป็นสายหลักในการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ โดยมีลำคลองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเขตแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่าง อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ตำบลนี้จึงใช้ชื่อว่าตำบลคลองแดน มองย้อนกลับไปประมาณเมื่อปีทีผ่านมาของตำบลคลองแดน จากความทรงจำของกระผม สมัยยังเป็นเด็กนักเรียนที่ โรงเรียนวัดคลองแดน พร้อมอุปถัมภ์ คลองแดนเต็มไปด้วยเรือนไม้อายุตั้งแต่ 50-100 ปี มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแผ่นบางเฉียบจากเกาะยอ และมีแต่สะพานไม้เคี่ยมทอดยาวตั้งแต่ตลาดทิศตะวันออกจนถึงตะวันตกยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เด็กสมัยนั้นไม่ค่อยมีรองเท้าใส่กันนอกเสียจากจะไปในตัว อ. หัวไทร หรือ อ. ระโนด จึงจะใส่กัน เด็กส่วนมากจะเดินเท้าเปล่า สะพานไม้เคี่ยมจะมีเสี้ยนสีดำๆ ถ้าเดินไม่ระวังจะถูกเสี้ยนไม้แทง การเดินเท้าเปล่าบนสะพานตอนเช้ายังเดินแบบสบาย เพราะสะพานยังไม่ร้อน แต่พอช่วงกลางวันแดดจัดๆบนพื้นไม้สะพานร้อนมากจนอาจทำให้พองได้ จึงต้องเดินให้เร็วหรือวิ่งหรือไม่ก็ต้องหลบไป หรือเดินตรงบริเวณที่มีเงาบ้าน บ้านจะสร้างติดสะพาน ทอดยาวเชื่อมติดกันตลอด และมีแนวชายคาบ้านยื่นออกมาเกือบครึ่งสะพาน เมื่อถึงหน้าฝน คลองแดนจะเกิดน้ำท่วมหรือน้ำพะทุกปีทำให้กระดานไม้เคี่ยมหลุดลอยไปกับน้ำทำให้เกิดเป็นร่อง ถ้าเดินไม่ระวังก็ตกร่องหรือลอดร่องสะพาน ต้องเดินงมกันไปตลอดทาง กว่าจะถึงที่หมายก็ใช้เวลานานพอควร จำได้ว่านักเรียนคนไหนที่พลาดตกร่องเสื้อผ้าเปียกก็กลับบ้านไม่ต้องเรียนหนังสือในวันนั้น ก็ได้เล่นน้ำทั้งวันไป สมัยนั้นแต่ละบ้านส่วนมากจะมีเรือพายใช้กัน คลองแดนมีเรือหางยาวที่เป็นเอกลักษณ์ของคนคลองแดนเป็นเรือมาดที่ขุดจากต้นไม้ทั้งต้นตัวเรือจะเรียวสวยงามมาก เป็นเรือรับจ้างวิ่งรับผู้โดยสารจากตำบลต่างๆ และระหว่างอำเภอ ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง เช่น สงขลานครศรีธรรมราช พัทลุง ประมาณได้ว่าเกือบ 100 ลำ ผู้คนเดินเบียดเชียดประมาณได้ว่าน่าจะถึงพันคน ร้านทองเหลืองอร่ามสี่ถึงห้าร้าน โรงสีข้าวเรียงลายตามแนวชายคลองหกถึงเจ็ดโรง ร้านตัดผม ร้านน้ำชาอีกหลายสิบร้าน ร้านข้าวยำขนมจีน เถ้าคั่ว โรงมโนห์รา ที่มีความคึกคักทั้งวันทั้งคืน ท่าเรือและตลาดคลองแดนไม่เงียบเหงาเหมือนสมัยนี้ คลองแดนเป็นเมืองน้ำ ชาวคลองแดนจะต้องยอมรับความจริงในข้อนี้และเมื่อเป็นเมืองน้ำก็ต้องพยายามหาประโยชน์จากทางน้ำ จะขอกล่าวย้อนหลังไปเมื่อหลายสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เส้นทางการคมนาคมของชาวคลองแดนคือทางเรือ แต่เมื่อถนนสายหัวเขาแดงสร้างเสร็จความสำคัญทางเรือก็เริ่มลดน้อยลงไป ในสมัยก่อนมีเรือหางยาววิ่งจากคลองแดนไประโนด จากคลองแดนไปชะอวด จากคลองแดนไปหัวไทรและปาพนัง จากคลองแดนไปทะเลน้อย
โดย
วีรพงศ์ พรหมมนตรี
บันทึกหนมจีนข้าวยำจากชุมชนคลองแดนในอดีต
แม้หลายคนจะเป็นคนปักษ์ใต้ และแม้คนทั่วไปจะรู้จักว่าข้าวยำเป็นอาหารปักษ์ใต้ อีกทั้งขนมจีนสูตรน้ำยาปักษ์ใต้มีรสชาติเป็นที่รู้จักกันทั่วไป... แต่ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า หลายคนน่าจะไม่รู้ว่า ขนมจีนกับข้าวยำสามารถนำมาผสมกันในจานเดียวและทานรวมกันไปได้...
เมื่อเป็นเด็กยังเรียนประถมต้นนั้น ผู้เขียนอยู่โรงเรียนวัดคลองแดน ต.คลองแดน อ. ระโนด จ. สงขลา ซึ่งในตลาดคลองแดนมีผู้คนหนาแน่นมาก จำได้ว่าในตลาดมีร้านขาย หนมจีน (ขนมจีน) กับข้าวยำ ที่ร้านป้าแก้ว ซึ่งตลาดไม่ไกลกับโรงเรียน...
พอไปถึงก็สั่งข้าวยำกับหนมจีน ๑ ชาม ราคา ๕๐ สตางค์... ป้าแก้วก็จะใส่ส่วนผสมข้าวยำลงในจานทั้งหมด ซึ่งมี ข้าว ๑-๒ ช้อน มะพร้าวคั้ว กุ้งแห้งตำละเอียด และส้ม พร้อมผักอีกนิดหน่อย ต่อจากนั้นก็ราดน้ำเคยข้าวยำลงไป...เมื่อข้าวยำครบสูตรแล้ว ป้าแก้วก็จะหยิบเส้นขนมจีนมานิดหน่อย วางทับในจานข้าวยำ แล้วก็ราดน้ำแกงหนมจีนลงไป เติมผักหนมจีนให้อีกนิดหน่อย แล้วก็ส่งมาให้ผู้เขียน...
เมื่อได้จานข้าวยำหนมจีนมาแล้ว ผู้เขียนก็นั่งขัดสมาดเรียบร้อย (ยุึคนั้น ร้านขายข้าวยำหนมจีน ยังคงนั่งพื้นกระดานปูเสื่อ... ยกเว้นร้านก๋วยเตียว จะมีโต๊ะให้นั่ง) ใกล้ๆ ก็มีถาดหมวดหนมจีนอยู่ ๒-๓ ถาด (ผัก ภาษาปักษ์ใต้เรียก หมวด เช่น ผักกินกับขนมจีนก็เรียกว่า หมวดหนมจีน...หรือผักกิันกับข้าวยำก็เรียกว่า หมวดข้าวยำ) ซึ่งลูกค้าก็จะยกไปวางที่ใกล้ๆ หรือส่งกันไปมาตามความพอใจ พอผักใกล้ๆ จะหมด ป้าแก้วก็จะเอามาเพิ่มอีก...
หมวดข้าวยำ ตอนผู้เขียนเล็กๆ จะเจอแต่ใบยอหรือใบพาโหมหั่นละเอียดเป็นพื้น บางครั้งก็อาจมีเกษรดอกลำภูผสมมาบ้าง (ชายทะเลริมทะเลสาบสงขลาตอนใน จะมีต้นลำภูปลูกอยู่ทั่วไป ซึ่งดอกลำภูใช้เป็นผักเหนาะได้)...ส่วน ส้ม ที่ใส่ในข้าวยำนั้น มักจะเป็นลูกขามสด (ฝักมะขามสด) หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ หรือไม่ก็เป็นลูกปริงสด (ผลมะปริงสด) ผ่าซีก เป็นต้น... ขณะที่ หมวดหนมจีน ในสมัยนั้น จะเป็นเม็ตสะตอเบา ปลีกล้วย ยอดหัวครก (ใบอ่อนของมะม่วงหิมพานต์) หรือถั่วฝักยาวเป็นพื้น โดยทั้งหมดนี้จะหั่นละเอียดแล้วก็กองไว้ในถาด หรือบางครั้งแต่ละถาดก็แยกชนิดของผักตามสมควร...
หนมจีนข้าวยำ หรือข้าวยำหนมจีน จะมีคนนิยมสั่งมาทานกันมากในยุคนั้น... และเมื่อผู้เขียนได้เข้ามาอยู่วัดชัยมงคลในตัวจังหวัดสงขลา (บ้านนอกเข้าเมือง) ผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะเห็นว่า ข้าวยำกับหนมจีนจะขายคู่กัน และไม่ค่อยมีใครอ้างถึงข้าวยำหนมจีนว่ากินผสมกันได้ เหมือนคลองแดนบ้านเกิด... ผู้เขียนจึงคิดว่า สูตรนี้ น่าจะนิยมกินกันเฉพาะท้องถิ่นบ้านเกิดของผู้เขียนเท่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง เฉพาะหมวดหนมจีนนี้ เมื่อมาอยู่ในเมือง จึงรู้ว่า ผักเหนาะ (ผักที่กินสดๆ) ที่กินกับหนมจีนนั้น มิได้มีเพียง ปลีกล้วย ยอดหัวครก ดอกลำภู ถั่วฝักยาว หรือเม็ดสะตอเบาเท่านั้น...ผักบุ้ง ถั่วงอก แตงกวา หรือผักอื่นๆ ก็เป็นผักเหนาะกินกับหนมจีนได้... แต่ที่แปลกไปก็คือ หมวดหนมจีนที่หั่นหรือซอยละเอียดนั้น นอกจากท้องถิ่นบ้านเกิดแล้ว ที่อื่นๆ ผู้เขียนไม่ค่อยจะเห็น... |