[ รายละเอียด ] เหรียญเม็ดแตงหลวงพ่อพ่อทวด วัดช้างให้ หน้าผากตรง พิมพ์ ณ.แตก หนังสือเลยหู เนื้ออัลปาก้า เหรียญเม็ดแตงรุ่นนี้บางคนว่าได้สร้าง ปี 06 แต่ก็มีอีกไม่น้อยแถวภาคใต้ว่าสร้าง ปี 08 แล้วยังมีอีกประปลายว่าสร้าง ปี 06 เพราะหนังสือบางเล่มเขียนไว้หรือนักเล่นบางคนบอกไว้ อ้ายอย่าแล้วแบบนี้มันคือปีไหนกันแน่ ส่วนตัวผมเคารพในข้อมูลของหลายๆท่าน อย่างน้อยพอมีข้อมูลอยู่บ้างถึงไม่มากก็น้อย ก็ดีกว่ายังไม่มีเสียเลย วันนี้นักเล่นพระเครื่องหลายๆท่านมีการศึกษาสูง ผมขอลงบทความซึ่งเขียน โดย...วิจิตร ปิยะศิริโสฬส ( แพะ สงขลา ) แนบมาเป็นข้อคิด
ปุจฉา!!!เหรียญเม็ดแตง หน้าผากตรง พิมพ์ ณ.แตก หนังสือเลยหูสร้าง ปี 2506 จริงหรือ???
โดย...วิจิตร ปิยะศิริโสฬส ( แพะ สงขลา )
ปฐมบทที่ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจต้องการค้นคว้าศึกษาพระเครื่องหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ โดยเฉพาะเหรียญเม็ดแตงนั้น เนื่องมาจากประมาณเมื่อยี่สิบปีก่อน ขณะที่ผู้เขียนและคุณภิยวัฒน์ วัฒนายากร(แต๊ก สงขลา) กำลังนั่งคุยและดูเหรียญเม็ดแตงหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ที่ผู้เขียนเก็บสะสมไว้ในขณะนั้นประมาณ 30 กว่าเหรียญ คุณภิยวัฒน์ วัฒนายากร กล่าวขึ้นมาว่า เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู ออกปี พ.ศ.2508 หลังจากนั้นหลายปี เมื่อผู้เขียนเข้าสู่วงการประกวดพระเครื่องพระบูชาไม่ว่าไปที่ไหนๆ เขาจัดให้ เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู เป็นปีพ.ศ.2506 ทำให้ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจที่ต้องการทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว เหรียญเม็ดแตง พิมพ์นี้สร้างปีไหนกันแน่? จากนั้นเป็นต้นมาผู้เขียนจึงได้เริ่มทำการเก็บข้อมูลและสอบถามผู้อาวุโสในวงการพระเครื่องพระบูชา ทั้งยังศึกษาจากเหรียญเม็ดแตงของตัวเองด้วย ทำให้ผู้เขียนมีความมั่นใจในข้อมูลของตัวเองมากขึ้น เมื่อผู้เขียนได้แยกพิมพ์เหรียญเม็ดแตง หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ เนื้ออัลปาก้า ปี 2506-2508 ทั้งหมด 15 พิมพ์ ได้ลงพิมพ์ในหนังสือศึกษาและสะสมฉบับที่ 98 เดือนตุลาคม 2552 ปรากฏว่า ได้มีเสียงสะท้อนกลับมาทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งว่า ยังไม่เคยมีใครแยกได้ละเอียดอย่างนี้มาก่อน ผู้อ่านบางท่านก็บอกว่าบางพิมพ์ยังไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่เห็นด้วยในบางพิมพ์ โดยเฉพาะ เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า เหรียญรุ่นนี้ สร้างปี พ.ศ. 2508 ท่านผู้รู้หลายท่านติติงมาว่าเขาเล่นเป็นปี พ.ศ.2506 มานานแล้ว ผู้เขียนขอขอบพระคุณในข้อคิดเห็นทั้งหมดที่ได้สะท้อนกลับมา
ในหนังสือศึกษาและสะสมฉบับที่ 98 เดือนตุลาคม 2552 ผู้เขียนยังเขียนไม่หมดถึงเหตุผลที่สนับสนุนว่า พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ "เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู สร้างปีพ.ศ.2508 ต่อไปนี้ผู้เขียนจะหยิบยกข้อมูลที่ผู้เขียนได้ศึกษาและค้นคว้ามา ซึ่งเป็นเหตุผลที่สนับสนุนข้อคิดเห็นของผู้เขียนที่ลงความเห็นไปแล้วว่า เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู สร้างปีพ.ศ.2508 ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ท่านผู้อ่านเคยตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่า ในการจัดการประกวดพระเครื่องพระบูชาในหลายๆครั้งที่ผ่านมา หรือพูดได้ว่าแทบจะทุกครั้ง พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ เหรียญเม็ดแตง ณ.แตก หนังสือเลยหู เขาจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับพระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ เหรียญเม็ดแตง หน้าผาก 3-4 เส้น หนังสือเลยหู ปี 2506 เคยมีสักครั้งไหม? ที่เหรียญเม็ดแตง ณ.แตก หนังสือเลยหู ได้รางวัลชนะเลิศ กรรมการให้รางวัลชนะเลิศกับเหรียญเม็ดแตง หน้าผาก 3-4 เส้น หนังสือเลยหูเท่านั้น ผู้อาวุโสหลายท่านที่เล่นพระเครื่องสายหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ และกรรมการบางท่านจะทราบว่า พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู สร้างปีพ.ศ.2508 ดังนั้นจึงให้รางวัลชนะเลิศไม่ได้ ได้แต่ให้คำพูดปลอบใจมาว่า เหรียญเม็ดแตงหน้าผาก 3-4 เส้น หนังสือเลยหูของเขานิยมกว่า แต่อย่าลืมว่าการประกวดพระเครื่องพระบูชาเขาประกวดกันที่ความสวยงาม มิได้ประกวดว่าเหรียญพระพิมพ์ไหนมีความนิยมกว่ากัน? ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีนัยยะสำคัญอยู่เบื้องหลังเป็นแน่? ถึงทำให้เหรียญเม็ดแตง ณ.แตก หนังสือเลยหู ไม่เคยได้รางวัลชนะเลิศเลยในการประกวดพระเครื่องพระบูชาที่ผ่านๆมาในอดีต แต่ที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถเป็นหลักฐานที่จะนำมากล่าวอ้างอิงหลักการในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้นผู้เขียนขอนำเสนอหลักฐานอ้างอิงในเชิงวิทยาศาสตร์ ให้ท่านผู้อ่านได้นำไปประกอบการใช้ดุลยพินิจและพิจารณา จากการศึกษาค้นคว้าและการสังเกตของผู้เขียน เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก ทั้งหนังสือเลยหูและหนังสือไม่เลยหู แม่พิมพ์ด้านหลังซึ่งเป็นรูปเหมือนอาจารย์ทิม ทุกพิมพ์ทุกเหรียญเป็นแม่พิมพ์ที่ถอดพิมพ์และถ่ายพิมพ์มาจากแม่พิมพ์ตัวเดียวกัน เนื่องจากมีตำหนิที่เหมือนกันอย่างน้อยก็มี 4 แห่งด้วยกัน (โปรดกรุณาดูภาพประกอบพร้อมทั้งดูตำหนิที่ผู้เขียนชี้ให้เห็น) จากภาพประกอบจะเห็นได้ว่า เหรียญเม็ดแตง ณ.แตกทั้ง4พิมพ์ แม่พิมพ์ด้านหลังมีตำหนิที่เหมือนกันทั้งหมด เช่น ที่หน้าผากอาจารย์ทิมเยื้องไปทางด้านขวามีรอยบุ๋ม ที่ไหล่ขวาอาจารย์ทิมมีเส้นแตก(ขนแมว)ไปยังขอบเหรียญ ที่สังฆาฏิด้านอกข้างซ้ายอาจารย์ทิมมีรอยบุ๋มเป็นบั้งๆ ที่ปลายสังฆาฏิตรงกลางอกอาจารย์ทิมมีเส้นแตก(ขนแมว)ไปยังขอบเหรียญ เป็นต้น
ทั้งภาพและข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้ผู้เขียนลงความเห็นว่า เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู ออกปีพ.ศ.เดียวกัน หากจะเล่นเป็นปีพ.ศ.2506แล้ว ก็ต้องเล่น เหรียญเม็ดแตง ณ.แตก ทุกพิมพ์เป็นปีพ.ศ.2506ด้วย มิใช่หยิบยกเอาพิมพ์ใดพิมพ์หนึ่งมาเล่นเป็นปีพ.ศ.2506 ดังนั้นผู้เขียนจึงขอฟันธงว่า เหรียญเม็ดแตง ณ.แตก ทุกพิมพ์ สร้างพร้อมกันในปี2508 ผู้เขียนเห็นด้วยที่วงการพระเครื่องพระบูชายกให้เหรียญเม็ดแตง พิมพ์หน้าผากตรง ณ.แตก หนังสือเลยหู มีค่าความนิยมสูงกว่าและหายากกว่าเหรียญเม็ดแตง ณ.แตก พิมพ์อื่นๆทุกพิมพ์ ผู้เขียนเป็นคนที่ยอมรับฟังเหตุผลและความคิดเห็นของผู้รู้ทั้งหลายอยู่แล้ว หากท่านผู้รู้ท่านใดมีข้อมูลและเหตุผลที่ดีกว่าสามารถลบล้างข้อคิดเห็นของผู้เขียนได้ ทั้งยังสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมถึงเล่นเป็นปีพ.ศ.2506 ขอความกรุณาช่วยบอกผู้เขียนด้วย จักเป็นพระคุณต่อผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง
ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนคนเดียวเท่านั้น ผิด-ถูกอย่างไร ท่านผู้อ่านโปรดกรุณาเอาไปพิจารณากลั่นกรองแยกแยะอีกทีหนึ่ง และค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป สะสมพระต้องเล่นไปคิดไป อย่าเชื่อที่ผู้เขียนเขียนมาทั้งหมด ให้เชื่อในสิ่งที่ตนเองคิดอย่างมีเหตุและผล เราเป็นคนรุ่นใหม่เก็บสะสมพระต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ต้องไม่ยอมให้มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ มิฉะนั้นจะเป็นการทำลายวงการพระเครื่องพระบูชาไทย อย่าทำให้อนุชนรุ่นหลังเห็นว่า วงการนี้เชื่อถือไม่ได้ เพื่อผลประโยชน์แล้ว บิดเบือนแม้แต่ปีพ.ศ.ที่สร้างพระ เราควรศึกษาให้รู้จริงจนเกิดเป็นภูมิความรู้ ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่และเล่นพระอย่างก้าวหน้าพัฒนา หากข้อความข้างบนนี้มีประโยชน์อยู่บ้าง ผู้เขียนขอยกความดีทั้งหมดให้กับบิดา-มารดาของผู้เขียน คุณสมศักดิ์ วาณิชย์สุวรรณ(โกหมิ่น หาดใหญ่) คุณภิยวัฒน์ วัฒนายากร(แต๊ก สงขลา) คุณชัยนฤทธิ์ เพชรพันธุ์ทอง และ บ.ก.ธีรพิพัฒ สิงหศิริธรรมที่ท่านเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เขียนสิ่งที่ผู้เขียนค้นคว้ามาตั้งแต่ฉบับที่ 94 จนถึงฉบับนี้ ยังมีอีกท่านหนึ่งที่ต้องขอขอบคุณอย่างสูงคือ คุณสมเกียรติ เจริญผล ที่เป็นธุระให้กับผู้เขียนในทุกๆเรื่องที่ผ่านมา หากมีสิ่งใดผิดพลาด ผู้เขียนขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียวและขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา |